กระบวนการขึ้นรูปไฟเบอร์กลาส มีอะไรอีก นอกจาก Hand Lay ???

Last updated: 30 ก.ย. 2565  |  942 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กระบวนการขึ้นรูปไฟเบอร์กลาส มีอะไรอีก นอกจาก Hand Lay ???

กระบวนการขึ้นรูปไฟเบอร์ นอกจาก Hand lay up ยังมีอีกหลากหลายวิธี แต่ละวิธีนั้นก็มี ข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับประเภทชิ้นงาน และจำนวนการผลิต เราจะขอเริ่มจากวิธีที่ทุกคนคุ้นเคยกันที่สุด คือ

1. Hand lay-up 

     เป็นวิธีการขึ้นรูปชิ้นงานไฟเบอร์โดยการใช้มือค่อย ๆ ทาเรซิ่นลงบนใยแก้วที่ปูลงบนแม่แบบ ทับกันไปมาหลายๆชั้น ซึ่งเป็นวิธีหลักในการผลิตชิ้นงานไฟเบอร์กลาส จากนั้น รอให้แห้งแล้วแกะออก จึงนำมาตัดแต่งเรียบร้อย (คลิกอ่าน อุปกรณ์ และขั้นตอนการทำงาน Hand Lay เพิ่มเติม)

     เป็นกระบวนการพื้นฐานที่ใช้อยู่ทั่วโลก เหมาะกับการทำชิ้นงานทั่วไป เช่น กันชนรถ หลังคารถ ถังบำบัด เก้าอี้ โต๊ะ ถังขนาดเล็ก-กลาง รูปปั้น หินเทียม พระพุทธรูป หรือ ชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ต้องการความแข็งแรง แต่น้ำหนักเบา ทนการกัดกร่อน

ข้อดี คือ สะดวกรวดเร็ว ต้นทุนค่าวัตถุดิบและวัสดุต่ำ

ข้อเสีย คือ ชิ้นงานจะเรียบแค่ด้านเดียว คือ ด้านที่สัมผัสกับโมลด์ และชิ้นงานยังมีน้ำหนักค่อนข้างมากอยู่ เมื่อเทียบกับวิธี vacuum-infusion เนื่องจากไม่สามารถรีดเรซิ่นส่วนเกินออกจากชิ้นงานได้มากนัก โดยอัตราส่วน ใยแก้ว ต่อ เรซิ่นจะอยู่ที่ 30% โดยประมาณ (ใยแก้ว 70 : เรซิ่น 30)


2. Spray-up

     เป็นวิธีการขึ้นรูปไฟเบอร์กลาสที่คล้ายกับ hand lay-up แต่มีความแตกต่างกันที่ วิธี Hand lay จะนำใยแก้วแผ่นปูบนโมลด์ แล้วทาเรซิ่นด้วยมือ แต่วิธีนี้จะใช้ใยแก้วแบบเป็นม้วนเส้นด้าย (ใยพ่น หรือ ใยสเปรย์) ป้อนเข้าเครื่องพ่นที่มีตัวตัดอยู่ พ่นออกมาเป็นเส้นที่ถูกตัดแล้ว โดยที่ตรงหัวพ่น จะมีท่อพ่นเรซิ่นพร้อมๆกันไป ลักษณะคล้ายการพ่นสี แต่ต้องมีการกลิ้งให้เส้นใยแก้วกับเรซิ่นแนบไปกับโมลด์อีกที เมื่อได้ความหนาที่ต้องการ ปล่อยให้ชิ้นงานแห้งแล้ว ทำการแกะออกจากโมลด์  

    เป็นกระบวนการที่เหมาะกับการทำชิ้นงานทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ และต้องการความแข็งแรง แต่น้ำหนักเบา ทนการกัดกร่อน 

ข้อดี คือ ต้นทุนวัตถุดิบต่ำ ทำงานแนวตั้งสะดวก ทำงานชิ้นใหญ่ๆได้ดี

ข้อเสีย คือ ชิ้นงานจะเรียบแค่ด้านเดียว และชิ้นงานยังมีน้ำหนักอยู่เนื่องจากไม่สามารถรีดเรซิ่นส่วนเกินออกจากชิ้นงานได้มากนัก เช่นเดียวกับวิธี Hand lay-up

3. Filament Winding

      เป็นวิธีการขึ้นรูปไฟเบอร์กลาส ที่ใช้เฉพาะสำหรับการขึ้นรูปชิ้นงานทรงกระบอกเท่านั้น ได้แก่ งานท่อและ ถังต่างๆ  โดยใช้ใยแก้วแบบม้วน (ใยพัน) โดยให้เส้นใยแก้ววิ่งผ่านอ่างเรซิ่น แล้วขึ้นไปพันกับโมลด์ที่เป็นทรงกระบอก พันทับไปมาจนทั่วทั้งโมลด์ เมื่อแห็งแล้ว ทำการดึงชิ้นงานออกจากโมลด์ จะได้ท่อนไฟเบอร์กลาสที่มีลักษณะกลวง สำหรับงานท่อ หรือ ถัง
 
ข้อดี คือ เหมาะกับการขึ้นรูปทรงกระบอก สำหรับงาน ท่อ และถัง สามารถ ควบคุมชิ้นงาน ให้มีความหนา และความแข็งแรงสม่ำเสมอทั้งชิ้นงาน
 
 
4. Vacuum-Infusion
 
     หลักการคร่าว ๆ ก็คือ เราจะวางใยแก้ว และ วัสดุเสริมแรงอื่นๆ เช่นคาร์บอน ที่ต้องการลงไปในโมลด์ และ ทับด้วยผ้า peel ply และ ตาข่ายนำเรซิ่น ก่อนซีลโมลด์ให้สนิทด้วย ฟิลม์และซีลกันรั่ว จากนั้นใช้ปั๊มดูดอากาศออกให้หมด แล้วปล่อยให้เรซิ่นซึมผ่านเข้าไปในโมลด์อย่างช้า ๆ ด้วยแรงดูดของปั๊ม โดยเรซิ่นส่วนเกินจะถูกดูดไหลออกไปยังถังดักเรซิ่น เมื่อเรซิ่นเต็มชิ้นงานเรียบร้อยแล้ว ก็ทำการปิดปั๊ม รอให้แห้ง แล้วทำการแกะชิ้นงานออกมา (คลิกอ่าน อุปกรณ์และขั้นตอนการทำงานอย่างละเอียด)
 
ข้อดี คือ  ชิ้นงานมีความแข็งแรงสูง และมีน้ำหนักงานเบา เนื่องจาก สามารถรีดน้ำหนักเรซิ่น ออกจากชิ้นงานได้เป็นอย่างดี โดยอัตราส่วนใยแก้วต่อเรซิ่นจะอยู่ที่ 50-60% เท่านั้น งานจึงมีน้ำหนักเบา ในขณะที่ความแข็งแรงของชิ้นงานยังคงเดิม เนื่องจากชิ้นงานไฟเบอร์กลาส ความแข็งแรงของงาน จะมาจากใยแก้ว หรือวัสดุเสริมแรงเป็นหลัก
 
ข้อเสีย คือ ชิ้นงานจะเรียบแค่ด้านเดียว คือด้านที่สัมผัสกับโมลด์เช่นเดียวกันกับวิธีอื่น ๆ  ดังนั้น สำหรับชิ้นงานที่ต้องการให้เรียบสองด้าน เราสามารถใช้โมลด์สองตัวประกบหน้าหลัง หรือ ใช้อีกกระบวนการหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า RTM (Resin Transfer Molding)
 
 

5. RTM (Resin Transfer Molding)

     RTM นี้เหมือนกับหลักการใช้โมลด์ประกบ แต่จะปิดโมลด์ตัวผู้กับตัวเมีย (Top Mold กับ Bottom Mold) ให้สนิทก่อนก่อนฉีดเรซิ่นเข้าไปในโมลด์จนทั่ว พอแห้งแล้วก็เปิดโมลด์ถอดชิ้นงานออก เหมาะสำหรับงานที่ต้องการเรียบสองด้านและมีจำนวนชิ้นงานต่อแบบสูง ส่วนมากจะเป็นโมลด์เหล็ก 

ข้อดี คือ ผิวชิ้นงานจะเรียบสองด้าน แข็งแรง และน้ำหนักเบา

ข้อเสีย คือ ต้นทุนการผลิตสูง เนื่องจากต้องใช้เครื่องฉีดโมลด์ในกระบวนการผลิต รวมถึงวัตถุดิบในการผลิต ต่อมาได้มีการปรับกระบวนการผลิต เพื่อลดต้นทุนลง โดยการลดแรงดันในการฉีดเรซิ่นลง โดยการนำ ปั๊มสูญญากาศเข้ามาช่วยในกระบวนการ  และเปลี่ยนไปใช้โมลด์ไฟเบอร์กลาสแทนโมลด์เหล็ก เรียกว่า Lite RTM แต่ วิธีนี้ก็ยังคงมีต้นทุนสูง เมื่อเทียบกับวิธี Hand-lay อยู่ดี

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้